อยากจะมีช่องพอดแคสต์เป็นของตัวเองบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ทำอะไรไม่ถูกเลย มาจ้ะ ทางนี้ เรามีวิธีง่ายๆ และประหยัดมากมาแนะนำกัน สำหรับมือใหม่ ขอแค่มือถือ 1 เครื่องและใจที่อยากทำมาแค่นั้น
Podcast คือ แพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับฟังรายการเสียง หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็ให้นึกถึงรายการวิทยุ ที่จะมีคนมาเล่าเรื่องให้เราฟัง เราจะได้ยินแค่เสียงเท่านั้นแต่จะไม่เห็นหน้า ซึ่งเราสามารถหาฟังได้ง่ายๆ จากอุปกรณ์ Apple และ Application Spotify
ในปัจจุบัน รายการบนพอดแคสที่เป็นภาษาไทยมีหลายประเภท ทั้งแบบให้ความบันเทิงและแบบที่เน้นเนื้อหาสาระ ตัวอย่างเช่น รายการสอนภาษา รายการแนะนำวิธีทำธุรกิจ รายการแนะนำวิธีการใช้ชีวิต เป็นต้น ข้อดีของรายการพอดแคส คือ เราสามารถฟังเมื่อไหร่ก็ได้ สามารถที่จะเลือกรายการตามความชอบ เปิดฟังแค่บางตอนที่สนใจ หรือจะดาวน์โหลดเก็บไว้ฟังยามที่ไม่มีอินเตอร์เน็ทใช้ก็ได้ กลุ่มผู้ฟังพอดแคสจะเป็นกลุ่มมิลเลนเนี่ยล หรือ Gen Y มากที่สุด ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 25-35 ปี
สารบัญเนื้อหา
เราจะได้อะไรจากการทำ Podcast
จุดประสงค์ในการทำพอดแคสต์เนี่ย ก็คล้ายๆ กับการเขียนบล็อก ทำคลิปยูทูปเลย คือทำเพื่อแชร์ความรู้ ประสบการณ์ หรือทำเพื่อแชร์ความบันเทิงให้กับกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันฟัง แค่รูปแบบในการรับสารมีแค่เสียงเท่านั้นเอง เพราะในปัจจุบันคนยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ขับรถไปด้วย เปิดพอดแคสฟังไปด้วย หรือนั่งทำงานเพลินๆ ออกกำลังกายเพลินๆ แล้วก็เปิดพอดแคสฟังไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เสียเวลาอันมีค่าไป
นอกจากนั้นก็ยังได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำพอดแคสต์ให้น่าสนใจ ได้เก็บสถิติข้อมูลของคนที่มาฟังว่าเค้าชอบฟังเรื่องอะไรกัน ทำให้เราสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อเพื่อหาหัวข้อเล่าเรื่องที่โดนใจ สินค้า และบริการมานำเสนอขายได้ และอีกข้อที่สำคัญคือ ทำให้ตัวเราเองนั้นพัฒนาขึ้น เพราะเราต้องค้นคว้าข้อมูลแล้วนำมาเรียบเรียงให้คนฟังได้เข้าใจอยู่เป็นประจำ
ตัวอย่าง Podcast ของปลาเอง
วิธีสร้าง Podcast ด้วยตัวเองจากที่บ้าน
1.หา Niche ของแชแนลเราก่อน ว่าอยากเล่าเรื่องอะไร
เรื่องที่เราอยากเล่า มีข้อมูลเยอะๆ เล่าได้ไม่มีเบื่อ เขียนลิสต์หัวข้อออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เอาให้ได้ 20-30 หัวข้อ หรือมากกว่านั้น เราจะได้มีไกด์ไลน์นำทางไปเรื่อยๆ ในช่วงที่คิดอะไรไม่ออก อย่างเช่น
ให้ความรู้แนวสุขภาพร่างกาย
- นอนไม่หลับ แก้ยังไง
- ทานอาหารต่อต้านหวัด
- ทานอาหารอย่างไรช่วยลดพุง
ให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพจิต
- มีอาการซึมเศร้า ดูแลตัวเองยังไงดี
- วิตกกังวล จนไม่รู้จะใช้ชีวิตยังไง
- มีอาการท้อแท้ในชีวิต
สอนภาษาอังกฤษและอีกมากมาย เราสามารถหาตัวอย่างได้จากการแวะเข้าไปดูพอดแคสต์ที่มีใน Apple Podcast, Spotify
2.ทำเนื้อเรื่องของ EP นั้นที่จะเล่า
ของปลาเล่าเรื่อยเปื่อยไม่ได้ เลยทำเป็นสคริปต์ แล้วอ่านให้ฟังเลยจะได้ลื่นๆ ไม่ต้องนั่งคิด สำหรับคนที่ชอบเล่า ก็ทำหัวข้อคร่าวๆ ของเรื่องที่จะเล่าไว้ก็ได้ จะได้ไม่ออกทะเลไปมาก แล้วก็อย่าลืมมีสรุปช่วงท้ายด้วยนะ คนฟังจะได้ตามทันและเข้าใจว่าเรากำลังสื่อสารเรื่องอะไร
ทำแผนงานไว้ด้วยนะ เช่น สองอาทิตย์ครั้ง จะปล่อยคลิปอาทิตย์ละครั้ง หรือ 2 คลิปต่ออาทิตย์ หรือจะทำทุกวัน ช่วงแรกสำคัญสุด ทำเตรียมไว้เลย 4 อีพี สำหรับ 1 เดือน ไม่มากไม่น้อยเกินไปนะ ลองดู ทำเผื่อวันที่ไม่อยากทำเอาไว้เลย
ถ้าคิดไม่ออกว่าจะเล่าเรื่องอะไรดี แต่อยากเล่า แนะนำให้หยิบหนังสือที่เราชอบ 1 เล่ม มาอ่านให้ฟัง แบ่งออกเป็นตอนๆ คัดมาสัก 4 ตอน เอาไว้ลงสำหรับ 1 เดือน เราสามารถตั้งคลิปเป็น Private ให้เราฟังคนเดียวก็ได้ เข้าใจว่าช่วงแรกจะเขินๆ หน่อย กลัวเสียงไม่น่าฟัง กลัวเล่าเรื่องได้ไม่ดี ก็ใช้วิธีนี้แหละซ้อมไปก่อนเดี๋ยวดีเอง จะได้ช่วยเพิ่มความกล้าและความมั่นใจให้เราก่อนเอาจริงด้วยนะ
อย่าลืมทำ Intro 1 ตอนเพื่อแนะนำตัว แนะนำแชแนลว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำเรื่องอะไร และทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้ ให้ผู้ฟังใหม่ๆ ที่เพิ่งแวะเข้ามาได้ฟัง และได้เข้าใจในสิ่งที่เราอยากบอกมากขึ้น
3.อุปกรณ์ที่ต้องมี
โทรศัพท์มือถือ เอาไว้อัดเสียง (ไอโฟนเสียงโอเคเลย) ไมค์ แนะนำของ Saramonic ตัวเล็ก พกพาสะดวก ต่อเข้ากับมือถือได้เลย ราคาประมาณ 1,000 บาท คอมพิวเตอร์เอาไว้ตัดต่อคลิปเสียง หรือจะใช้แอปที่มีบนมือถือช่วยตัดก็ได้ ช่วงแรกเราไม่จำเป็นต้องลงทุนกับอุปกรณ์เยอะ เอาเท่าที่หาได้ใกล้ๆ ตัวไปก่อน พอเก่งแล้ว มีคนตามฟังเยอะขึ้นค่อยทำให้มันแอดวานซ์ขึ้นก็ได้
4.อัดเสียงในห้องเงียบๆ
หลังจากที่เรามีสคริปต์แล้ว เราก็ต้องมานั่งอัดเสียงในห้องที่เงียบที่สุดในบ้านเรา อาจจะเลือกอัดเสียงในช่วงกลางดึก หรือเช้าตรู่ก็ได้ เพราะมันเงียบกว่าตอนกลางวัน ซึ่งตัวโปรแกรมที่แนะนำให้ใช้ จะเป็นโปรแกรม Voice Memo ที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือ หรืออีกตัวที่ปลาใช้จะเป็น App Anchor เป็นแอปที่เค้าสร้างมาเพื่อ Podcaster โดยเฉพาะเลยล่ะ
คำแนะนำ
- ช่วงแรกของเนื้อหา ให้เราแนะนำแชแนลหรือแนะนำตัว แล้วก็พูดเข้าเรื่อง พอตอนจบก็ฝากผลงานให้ตามต่อ หรือฝาก Call to action ให้คนฟังเราติดตามต่อในอีพีถัดๆ ไป เหมือนร่ำลาเพื่อนเล็กน้อยก่อนจากกัน จะช่วยให้ช่องของเราน่าฟังมากขึ้น
- ยิ่งเราอัดเสียงในช่วงที่ไม่มีเสียงรบกวนได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลดงานตัดต่อของเราลงเท่านั้น งานเสร็จก็เร็วขึ้นด้วย
5.ตัดต่อคลิป
ใช้ App Anchor ตัวเดิมในการตัดต่อ ใส่ซาวด์สนุกๆ หรือจะอัดเสียงพร้อมเพื่อนก็ได้ เก๋ไปอีก เราใช้อีกตัวในการตัดคลิปก็คือ imovie เพราะถนัดกับโปรแกรมนี้ Anchor จะใช้สำหรับอัดเสียง และอัพคลิปเพื่อปล่อยไปตามช่องทางต่างๆ
ตอนตัดต่อเสียงให้เราใส่ซาวด์เพลงที่เข้ากับแชแนลของเราด้วยนะ สัก 5-10 วิ เราสามารถเลือกเสียงจาก Anchor มาใส่ หรือจะ import เสียงที่เราชอบมาใส่ก็ได้ เราสามารถหาข้อมูลสไตล์งานพอดแคสต์จากการฟังช่องที่เราสนใจ หรือมีความชื่นชอบเป็นพิเศษแล้วเอามาปรับใช้กับช่อเราบ้างก็ดีเหมือนกัน
จะเห็นว่า Anchor มีฟังก์ชั่นให้เลือกใช้งานหลากหลายเลย ครบมากสำหรับคนเริ่มต้นทำพอดแคสต์
6.ทำหน้าปกคลิป
ใครมีฝีมือก็งัดออกมาโชว์เลย ส่วนคนที่ไม่เก่งด้านอาร์ท ลองใช้ โปรแกรม Canva ดูก็ได้ เหมาะสำหรับมือใหม่มากๆ ทำอาร์ทเวิร์คให้อยู่ในรูปแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส เราอาจจะทำแค่ไฟล์หน้าปกอันเดียวแล้วใช้กับทุกตอน หรือจะออกแบบหน้าปกของแต่ละตอนไปเลยก็ได้
ตัวอย่างปกคลิปของหลากหลายช่อง Podcast
อย่าลืมเขียน Description แบบกระชับ เชิญชวนให้คนกดเข้ามาฟังด้วยนะ
7.ช่องทางการปล่อยคลิป
พอเรามีไฟล์เสียงที่พร้อมปล่อยให้คนฟังแล้ว เราก็ต้องมี Host หรือแพลตฟอร์มสำหรับเก็บและแชร์คอนเท้นต์ของเราด้วย มีให้เลือกใช้หลายตัวเช่น Soundcloud, Podbean, ปลาใช้ Anchor สะดวกและง่ายมากมาย ในตัวโปรแกรมมีพร้อมทุกอย่างที่สำคัญคือ ฟรี
ถ้าใช้ Anchor มันจะแชร์ไปที่ Spotify โดยอัตโนมัติเลย รอไม่เกิน 1 วัน สำหรับการผ่านการยืนยันคลิปแรก พอคลิปต่อๆ ไปก็ไม่เกิน 1 ชม นอกจากช่อง Podcast จะไปโชว์ที่ Spotify เก๋ๆ แล้ว Anchor จะช่วยให้ช่องของเราไปกระจายอยู่ตามสถานีบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วยตามนี้
- Apple Podcasts
- iTunes
- Google Podcasts
- Spotify
- Stitcher
- Breaker
- Castbox
- Overcast
- Pocket Casts
- RadioPublic
ช่วงแรกจะวุ่นวายหน่อยเพราะมันต้องรอ Approve 1-2 เดือนเลย แต่ถ้าเราอยากให้ช่องของเราไปโชว์ใน Apple Podcasts เร็วขึ้น เราสามารถทำได้ด้วยการเอาแชแนลเราไปผูกก่อน
โดยการสมัคร iTunes ผ่านลิ้งนี้ https://podcastsconnect.apple.com/
เราต้องเอา RSS Feed ที่ Anchor มาแปะโดยการ ไปที่ Settings => Distribution => จะเจอ RSS Feed
ใส่ RSS feed ลงไปในช่อง URL แล้วคลิกที่ Validate รอประมาณ 7-14 วัน เราจะได้อีเมลตอบกลับจาก Apple ว่าช่องของเราได้รับการยืนยันแล้ว เพียงเท่านี้ช่องพอดแคสต์ของเราก็จะไปโชว์บน Apple Podcast พร้อมให้คนเข้ามาฟัง
8.หาเงินจาก Podcast
ช่วงแรกอยากให้ทำเพราะอยากทำจริงๆ ก่อน อย่าเพิ่งคิดเรื่องเงิน เดี๋ยวจะท้อ จริงๆ ก็แทบทุกอย่างเลยที่การเริ่มต้นน่ะ จะเป็นช่วงที่เหนื่อยและยากเสมอ แต่พอเราทำไปสักพักเราจะเริ่มจับทางได้ แล้วเราก็จะรู้ได้ว่าเราจะหาเงินกับมันยังไงดี
1. รับสปอนเซอร์
ถ้าหากว่าเราชอบเล่าเรื่อง คุยสนุก น่าฟัง เราสามารถทำรายการพอดแคสต์ของตัวเองได้ จากนั้นก็ต้องพยายามสร้างฐานคนฟังที่เป็นแฟนคลับให้มากขึ้น หากรายการที่เราทำมีคุณภาพดี เนื้อหาดี มีคนติดตามเยอะมาก ก็จะมีสปอนเซอร์ติดต่อเข้ามาขอเข้าร่วมโฆษณาในรายการของเราก็เป็นได้
2. ขายสินค้าของตัวเอง
จริงๆ แล้ว Podcast ก็เป็นช่องทางหนื่งในการกระจายเนื้อหาไปสู่ผู้บริโภคคล้ายกับ Web blog, Youtube, Facebook Fanpage ถ้าเรามีสินค้าของตัวเองอยู่แล้ว เราก็สามารถสร้างคอนเท้นท์สนุกๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เรามี ให้ความรู้คนฟังเพิ่มเติม แล้วใช้ช่องทางนี้ในการเพิ่มยอดขายหรือสร้างแบรนด์ดิ้งให้กับตัวเองได้อีกทาง ในทางกลับกัน ถ้าเราเริ่มทำรายการพอดแคสจากความชอบของเราแล้วทำให้มีคนติดตามหลักพัน หลักหมื่นได้ เราก็สามารถขายสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มคนฟังของเราได้เช่นกัน
อ่านวิธีหาเงินออนไลน์เพิ่มเติมได้ที่นี่จ้า
ข้อดีของการทำพอดแคสต์
พอดแคสต์ เป็นอีกช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับหรือลูกค้าในอนาคตของเรา มีความน่าสนใจตรงที่ว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะฟังคลิปเสียงจาก Podcast เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การที่เราเริ่มเข้ามาทำช่วงนี้ ก็เหมือนกับกลุ่มคนที่เริ่มทำ Youtube กันเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว มีโอกาสเติบโตได้สูง
1.เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
2.คนฟังจะรู้สึกคอนเน็กกับคนทำแชแนลมากขึ้น ได้รู้จักตัวตนคนทำ
3.ปริมาณช่องและคอนเท้นท์ ยังมีไม่เยอะ ช่องของเรามีโอกาสเกิดได้สูง คู่แข่งน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น youtube
4.ทำง่ายกว่าคลิปวิดีโอ ไม่ต้องแต่งหน้า แต่งตัว เซ็ทสถานที่ ลดเวลาโปรดักชั่นลงได้เยอะ
ข้อเสีย
1.กลุ่มคนฟังมีจำกัด อาจจะไม่ทั่วถึงได้เหมือน Youtube
2.ต้องวางแผนงานให้ดี จะเล่าเรื่องอะไร ใช้เวลาในการทำเยอะกว่าการทำบล็อก
3.ไม่มีภาพประกอบให้เราเห็นชัดๆ เหมือนเวลาอ่านบล็อกหรือ ดูคลิป
4.เราจะไม่เห็น Feedback จากในหน้าแสดงผลทั่วไป ไม่สามารถคอมเม้นท์หรือกดไลค์ได้แบบแพลตฟอร์มอื่น
5.เหมาะกับบางธุรกิจเท่านั้น เช่น เราอยากสอนวาดรูปผ่าน Podcast ก็ดูจะได้ข้อมูลไม่ครบ มันควรจะมีภาพมาประกอบไปทีละขั้นตอนด้วย เป็นต้น
สรุป
เท่าที่ทำ Podcast มา 27 คลิปก็ได้พบว่ามันเป็นอีกวิธีในการสื่อสารกับกลุ่มคนฟังหรือแฟนคลับของเรา บางคนไม่ชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆ แต่ชอบการที่มีคนเล่าให้ฟัง มันก็สนุกไปอีกแบบ Podcast อยู่ตรงกลางระหว่าง การเขียนบล็อก กับการทำวิดีโอ เหมาะกับคนที่เป็น introvert คือไม่ค่อยชอบออกกล้อง ถ่ายวิดีโอ เพราะเขิน แต่ก็ยังอยากที่จะแชร์ความรู้และประสบการณ์ให้ผู้อื่นฟังนั่นเอง สิ่งสำคัญของพอดแคสต์ที่ไม่ได้ต่างจากการใช้ช่องทางอื่นเลยก็คือ คอนเท้นท์ หรือเนื้อหานั่นเอง ที่จะต้องมีประโยชน์ มีสาระ เพื่อให้คนฟังเอาไปใช้ได้จริงๆ
ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะกับการมีช่อง Podcast ของตัวเอง ไปค่ะ เริ่มทำเลยวันนี้
ฝากติดตามช่อง Podcast ของปลาด้วยนะคะ
Apple Podcasts : https://apple.co/3aYRGKI
Spotify : https://spoti.fi/2s1hqV8
อยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง สำหรับโปรโมท Podcast ดูเพิ่มเติมที่นี่จ้า